Salaryman ชายในชุดสูทสีดำ ตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

Salaryman | ประเทศญี่ปุ่นนั้นนับว่าเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจเเข็งเเกร่งเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว เเละพวกเขาใช้เวลาไม่ถึง 20 ปีก็สามารถพลิกฟื้นประเทศจากกองเถ้าถ่านของสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเป็นประเทศที่มีความร่ำรวยเเละมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านต่างๆ ล้ำหน้ากว่าประเทศอื่นๆ

Salaryman คือใคร

Salaryman

หลายคนคงสงสัยว่าอะไรที่เป็นจุดซึ่งทำให้ประเทศหมู่เกาะเเห่งนี้สามารถทำสำเร็จได้นั้น  คำตอบก็คือประชากรในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีคุณภาพเเละพร้อมจะทุ่มเทให้กับการทำงานในภาคส่วนต่างๆ ทำให้ฟันเฟืองเล็กๆที่ขยับไปมาอย่างบ้าคลั่งนั้นเป็นส่วนผลักดันให้ประเทศสามารถหลุดพ้นจากความย่อยยับของสงครามได้อย่างรวดเร็ว เเละนี่ก็คือจุดกำเนิดของเหล่า ซาลารี่มัง หรือซาลารี่เเมน เหล่าชายในชุดสูทสีดำที่เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้มีความรุดหน้า ใครไปญี่ปุ่นคงจะต้องเคยเห็นพวกเค้ากันอยู่แล้ว

จริงๆ เเล้ว ซาลารี่เเมน เเบบญี่ปุ่นในโลกปัจจุบันนั้นได้รับความนิยมน้อยลงจากบรรดาเด็กๆญี่ปุ่นที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีเเล้ว เเละไม่ใช่ความฝันในการประกอบอาชีพของหลายๆ คนเหมือนดั่งเเต่ก่อน เพราะระบบการจ้างงานเเบบตลอดชีพที่เปลี่ยนเเปลงไปหลังจากหมดยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูของญี่ปุ่น ทำให้ประชาชนญี่ปุ่นหลังยุคเบบี้บูมนั้นเป็นกลุ่มท้ายๆ ที่ได้รับการจ้างงานเเบบตลอดชีพ ซึ่งคล้ายๆ กับระบบข้าราชการเเบบในประเทศไทย

เหล่าบรรดาลูกจ้างในองค์กรธุรกิจต่างๆหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นทำงานสู้ตายถวายหัวให้กับองค์กรเลยทีเดียว จนกลายเป็นวัฒนธรรมในการทำงานเเบบญี่ปุ่นที่ไม่มีชาติใดเหมือน เพราะพวกเขาจริงจังในการทำงานเเละมีความความมุ่งมั่นอดทนเป็นอย่างมาก โดยอาจจะมีปัจจัยมาจากการที่เป็นประเทศที่พ่ายเเพ้สงครามเเละมีความลำบากยากเข็ญในช่วงเเรกหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงก็เลยทำให้กลายเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบเเละผลักดันให้ประเทศสามารถรอดพ้นจากสถานการณ์เช่นนั้น

หลังจากนั้นประมาณ 20 ปี ญี่ปุ่นก็ได้กำเนิดกลุ่มคนกลุ่มใหม่ในสังคมที่เรียกกว่าว่า ซาลารี่มัง โดยมีลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจด้วยการสวมสูทสีดำเเละเป็นคนที่เคร่งเครียดในการทำงานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งว่ากันว่าเป็นวัฒนธรรมที่ญี่ปุ่นรับมาจากชาติตะวันตกเเละมาประยุกต์ให้กลายเป็นวัฒนธรรมเเละเเบบเเผนในองค์กรธุรกิจรวมทั้งราชการของญี่ปุ่นอีกด้วย

เหล่า ซาลารีมัง นั้นจะตื่นเช้าเพื่อไปทำงานให้ทันเวลาเเละกลับบ้านค่ำเพราะต้องทำงานล่วงเวลา ถือว่าเป็นฟันเฟืองที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้

ระบบการจ้างงานเเบบตลอดชีวิตของญี่ปุ่นในอดีตนั้นเป็นจุดกำเนิดของเหล่า ซาลารี่มัง อย่างเเยกไม่ออก เเละเป็นการถ่ายทอดวิถีของซามูไรในยุคศักดินามาสู่ยุคของสงครามเศรษฐกิจอย่างเเท้จริง เพียงเเต่เปลี่ยนจากดาบมาเป็นสูทเเละกระเป๋าเอกสารเท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้นยังคงเหมือนเดิม พวกเขาเข้ามาทำงานในบริษัทไม่ได้เป็นเเค่ลูกจ้าที่ทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบเท่านั้น เเต่สำหรับบริษัทเเล้วพวกเขาคือครอบครัว เเละจะเจริญก้าวหน้าไปพร้อมกัน

และเพราะเหตนี้ทำให้บริษัทญี่ปุ่นนั้นมีระบบในการเลื่อนเงินเดือนที่มีความเเปลกไม่เหมือนที่ไหนในโลก โดยอย่างพนักงานที่เป็นโสดนั้นก็จะได้รับการดูเเลในระดับหนึ่ง เเต่หากอยากจะเจริญก้าวหน้าหรือไปประจำการที่ต่างประเทศนั้นก็ต้องเเต่งงานเสียก่อนจึงจะมีโอกาสในการออกไปทำงานในต่างประเทศ

ส่วนซาลารี่มังที่เเต่งงานเเล้วก็เเน่นอนว่าจะได้รับโอกาสมากยิ่งขึ้น เเละหากมีลูกทางบริษัทก็จะปรับเงินเดือนเป็นอีกเรทให้สามารถดูเเลครอบครัวได้ ทำให้พวกเขาทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างเต็มที่เลยทีเดียว

การเข้ามาทำงานในบริษัทต่างๆ เพื่อเป็น ซาลารี่มัง นั้นจะเริ่มตั้งเเต่ช่วงที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีช่วงปี 3 เเละ 4 ซึ่งบริษัทต่างๆ จะออกไปเปิดรับสมัครกันในมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว เรียกช่วงเวลานี้ว่า ซูคัตสึ หรือช่วงล่างาน ยิ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้วยเเล้วก็เป็นที่ต้องการของบริษัทขนาดใหญ่อย่างยิ่ง เเละบริษัทจะใช้เวลาในการคัดเลือกจนกระทั่งถึงปี 4 นักศึกษาเเทบจะทุกคนก็จะได้รับการตอบรับเข้าทำงานในบริษัทต่างๆ เเล้ว

เเละเมื่อสำเร็จการศึกษาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ก็จะมีเวลาให้พวกเขาอีกประมาณ 1 เดือน คือในเดือนมีนาคมทั้งเดือนในการเตรียมตัวหรือพักผ่อน ก่อนจะเริ่มงานพร้อมกันในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งตรงกับช่วงที่ดอกซากุระบานสะพรั่งพอดี ทำให้ในช่วงเดือนมีนาคมเราจะเห็นบรรดาเด็กจบใหม่ออกเดินทางไปท่องเที่ยวยังต่างประเทศกันเป็นจำนวนมาก

เมื่อเริ่มเข้าทำงานในบริษัทนั้นเเม้ว่าจะอยู่ต่างเเผนกกันเเต่พวกเขาจะได้รับการเทรนพร้อมๆ กันทั้งหมด เรียกว่าเป็นรุ่นเดียวกัน เพื่อสร้างคอนเน็กชั่นระหว่างเเผนกต่างๆให้กระชับยิ่งขึ้น บางคนก็จะพบเพื่อนเเท้ในที่ทำงานกันในช่วงเวลานี้ หรือจะปิ๊งปั้งกันก็ในช่วงเวลานี้เช่นเดียวกัน พร้อมๆ กับการพบคู่เเข่งในบริษัทตัวเองด้วยเช่นกัน เเละเมื่อพ้นช่วงเวลาในการเทรน ซึ่งน่าจะประมาณ 3-6 เดือน เเล้วเเต่บริษัท หรืออาจจะน้อยกว่านั้น พวกเขาก็จะไปประจำตามเเผนกเเละได้รับมอบหมายงานที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ ซึ่งเเน่นอนว่าจะต้องมีรุ่นพี่ในบริษัทเป็นผู้กำกับดูเเลอยู่อีกช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เเล้วก็จะดูเเลจนครบ 1 ปี ที่เข้ามาทำงานในบริษัท

อุปกรณ์จำเป็นสำหรับเหล่า ซาลารี่เเมน นั้นก็เเน่นอนว่าต้องเป็นสูทสีดำเเละมีเสื้อเชิ๊ตสีขาวเเขนยาวอยู่ด้านใน รองเท้าหนังสีดำ เเละผูกเน็กไทต์ที่ไม่มีลายเเละสีต้องเรียบๆ โดยสูทเเบบกระดุม 2 เม็ด เพื่อให้ดูสุภาพ พร้อมกับกระเป๋าเอกสารสีดำ ซึ่งส่วนใหญ่เเล้วจะเป็นหนัง ในนั้นจะมีอุปกรณ์ที่จำเป็น ก็คือสมุดตารางนัดหมาย ซึ่งในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนมาเป็นเเท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนกันเเล้ว เเต่ส่วนใหญ่ก็ยังต้องพกอยู่ดี ซองใส่นามบัตร ซึ่งขาดไม่ได้เลยสำหรับ ซาลารี่มัง เพราะเป็นการเเนะนำตัวเมื่อพบลูกค้าก็จะมีการเเลกนามบัตรกันเมื่อเป็นการพบกันครั้งเเรก

การเเลกนามบัตรนั้นก็มีธรรมเนียมมากมายเล็กน้อยที่ต้องใส่ใจเป็นอย่างมาก อย่างเช่นต้องใช้มือทั้งสองข้างในการยื่นนามบัตร เเละต้องหันด้านของนามบัตรให้ผู้รับสามารถอ่านได้เลย อีกทั้งเมื่อรับนามบัตรมาเเล้วต้องมีคารมในการชมซักเล็กน้อยก่อนที่จะเก็บนามบัตรเข้ากระเป๋าอีกด้วย ถือว่าเป็นธรรมเนียมเเละวิธีปฏิบัติที่ต้องเรียนรูกันไป

นอกจากนี้เเล้ว ซาลารี่เเมน บางคนยังพกเบนโตะที่ภรรยาทำมาให้เพื่อเอาไว้กินในเวลากลางวันอีกด้วย ส่วนบรรดาหนุ่มโสดบางทีก็ทำข้างกล่องมากินเองเหมือนกัน จะได้ไม่ต้องออกไปเเย่งอาหารกลางวันกับเหล่า ซาลารี่เเมน ร่วมบริษัทในร้านค้าสะดวกซื้อ หรือร้านอาหารรอบๆ อาคารสำนักงานในเวลากลางวัน


ซาลารี่มัง ส่วนมากเเล้วจะต้องทำงานกันอย่างหนักหน่วงห้ามกลับบ้านก่อนคนอื่นในเเผนก เพราะจะดูเป็นพวกไม่สู้งาน จึงทำให้เป็นเหมือนความกดดันทั้งกับตัวเองเเละครอบครัว เเต่มันก็เป็นสิ่งที่สังคมญี่ปุ่นนั้นยอมรับได้ไปเเล้ว ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ นั้นน่าสนใจไม่น้อยเพราะบางทีพวกเขาก็ต้องออกไปตีกอล์ฟกับบรรดาลูกค้าทั้งหลายที่กำลังติดต่องานกันอยู่

การตีนั้นก็ต้องตีเเบบให้เเพ้เนียนๆ อีก เพื่อจะได้ให้ลูกค้าพึงพอใจเเละเซ็นต์สัญญากับบริษัทของตัวเอง อีกทั้งในช่วงเย็นบางที่ก็ต้องพาลูกค้าไปเอนเตอร์เทนในบาร์หรือคลับบ้าง โดยเเน่นอนว่าบรรดาลูกค้าก็จะสนุกกันอย่างเต็มที่ ส่วนซาลารี่มัง ที่ไม่ใช่ระดับหัวหน้านั้นก็ต้องคอยเทคเเคร์เอาอกเอาใจต่างๆ จนส่งลูกค้ากลับบ้าน ทำให้พวกเขาต้องดื่มแอลกอฮอล์บ่อยไม่ใช่เล่นเเละเป็นอีกส่วนที่สร้างปัญหาให้กับร่างกายในภายหลัง

การคิดค้นใดๆ ที่เกิดขึ้นในบริษัทนั้นส่วนใหญ่เเล้วลิขสิทธิ์จะตกเป็นของบริษัทเองทั้งหมด เพราะซาลารี่มังนั้นมีความคิดว่าบริษัทจ้างมาให้พวกเขาทำงาน ความคิดต่างๆ นั้นก็ต้องตกเป็นของบริษัท ซึ่งต่างจากตะวันตกที่จะชอบเอาผลงานเเละความคิดของตัวเองนั้นไปเป็นใบเบิกร่องในการตั้งบริษัทขนาดเล็กขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราจะเห็นชื่อของผู้ประดิษฐ์หรือคิดค้นนู้นนี่จากฝั่งตะวันตกมากกว่า ส่วนในญี่ปุ่นนั้นจะได้ชื่อเเต่ว่าเป็นบริษัทนั้น บริษัทนี้เเทน

บรรดา ซาลารี่เเมน นั้นจะปรากฏตัวออกมาในตอนเช้าที่สถานีรถไฟต่างๆ เเบบเป็นกองทัพเลยทีเดียว เเละเดินกันเร็วมากเพื่อให้ไปทำงานทันเวลา เเละเราจะพบพวกเขาอีกตอนเย็นเวลาเลิกงานซึ่งก็มาเป็นกองทัพอีกเช่นกัน เเต่ระหว่างวันนั้นเราก็ยังสามารถพบเหล่าซาลารี่เเมน ฝ่ายขายที่มีหน้าที่ในการออกไปพบกับลูกค้า

บรรดาดาวเด่นที่ถูกคาดหวังเอาไว้ว่าจะสามารถสร้างให้บริษัทมีความเจริญก้าวหน้าได้ พวกเขาจะถูกส่งออกไปประจำยังต่างประเทศ เพื่อให้ขยายงานให้กับบริษัท ซึ่งจะเรียก ซาลารี่เเมน เหล่านี้ว่า จูไซอิง ซึ่งสำหรับ จูไซอิงเเล้วก็มีทั้งเเบบเเรกที่กล่าวไปเเล้วว่าเป็นความหวังของบริษัท เเละเป็นการย้ายมาประจำในฐานะที่สูงขึ้นกว่าเดิม กับอีกเเบบคือการถูกลงโทษนั่นเอง โดยเป็นการให้พิจารณาตัวเองเมื่อมีความผิดหรือผลงานไม่เข้าเป้า

เเต่เเบบเเรกนั้นน่าสนใจ เพราะมีจำนวนมากที่เดินทางยังประเทศไทย ซึ่งเราจะสามารถเห็นได้เเถวสุขุมวิท หรือเเถวธนิยะในกรุงเทพ รวมทั้งเเถบนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เเถวศรีราชา ที่มีจำนวนคนญี่ปุ่นมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เเละอย่างที่บอกเเล้วว่าซาลารี่เเมน ที่จะออกมาประจำยังต่างประเทศได้นั้นต้องเเต่งงานมีครอบครัวเสียก่อน เพราะวัฒนธรรมญี่ปุ่นจะมองว่าเป็นผู้ใหญ่เเละสามารดูเเลงานได้ ทำให้ครอบครัวของพวกเขาตามมาอาศัยอยู่ในต่างประเทศด้วย

สำหรับประเทศไทยเเล้วถือว่าเป็นสวรรค์ที่เหล่า ซาลารี่เเมน ต้องการมาไม่น้อยเช่นกัน เพราะความสะดวกสบาย เเละความรู้สึกที่ไม่ต้องเคร่งครัดกับประเพณีวัฒนธรรมในญี่ปุ่น ถึงขนาดที่ว่ามี ซาลารี่เเมน หลายๆ คนที่ครบรอบเเล้วต้องกลับไปยังญี่ปุ่น ถึงกับทำใจไม่ได้ก็มี

สำหรับประเทศที่มีความสงบเรียบร้อยเเละค่าครองชีพถูกกว่าที่ญี่ปุ่นนั้นถือว่าเป็นเกรด A อย่างในประเทศไทย สิงคโปร์ เเละเวียดนาม เเต่หากเป็นประเทศที่สงบเเต่ค่าครองชีพเเพงกว่าญี่ปุ่นอย่างในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป จะเรียกว่า เกรด B เเละหากเป็นประเทศที่มีความวุ่นวายจะเป็นในกลุ่มเกรด C ที่ไม่ค่อยมีใครอยากจะไปประจำกัน เเละส่วนใหญ่เเล้วพวกที่โดนไปประจำการในประเทศกลุ่มนี้จะเป็นลักษณะโดนลงโทษเสียมากกว่า

เเต่อย่างไรก็ดีในช่วงที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเริ่มเเย่ลงเเล้ว ทำให้เหล่า ซาลารี่เเมน เริ่มไม่มีความสุข เพราะบริษัทเริ่มปรับการจ้างงานใหม่ เเละการจ้างงานตลอดชีพนั้นเหลือเพียงในบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น เเละใครที่ไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ก็จะถูกเลย์เอ้าท์ออกไป ทำให้วัฒนธรรมในการทำงานเเบบหามรุ่งหามค่ำของ ซาลารี่เเมน เริ่มลดลง เเละการทุ่มเทให้กับบริษัทก็ไม่ใช่เเนวคิดที่เด็กรุ่นใหม่ๆ ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมีเหมือนเเต่ก่อน

ทำให้ในสังคมญี่ปุ่นจะเริ่มเห็นการก่อตั้งบริษัทขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกฎหมายญี่ปุ่นที่เเก้ไขใหม่เอื้อให้การตั้งบริษัทเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เเละมีความนิยมในการเป็นฟรีเเลนซ์มากยิ่งขึ้นอีกด้วย คาดการณ์กันว่าในอนาคตอีก 10 ปี ข้างหน้าเราอาจจะไม่ได้เห็นฝูง ซาลารี่เเมน ในช่วงตอนเช้าหรือเย็นในขบวนรถไฟที่อัดเเน่นอีก เพราะพวกเขาจะเกษียณกันหมดเเล้ว เเละจะมีเเต่ ซาลารี่เเมน ยุคใหม่ที่มีความหลากหลายในการทำงานเเละความคิดเเทน

admin | I love Tokyo & Film Camera

Site Footer